คำแนะนำสำหรับมือใหม่ในการถ่ายภาพดวงดาว แสงเหนือ และท้องฟ้ายามค่ำคืน


อยากลองถ่ายแสงเหนือสวยๆ หรือเก็บภาพทางช้างเผือกระหว่างทริป? ลองอ่านนี่

เคยเห็นคนเก่งๆถ่ายภาพแสงเหนือเริงระบำบนท้องฟ้าเหนือทุ่งราบปกคลุมด้วยหิมะสวยๆ หรือภาพทางช้างเผือกที่คนอื่นถ่ายมา ดูอวกาศซะเหลือเกิน เราอาจเคยลองถามๆ และได้คำตอบมาเพื่อว่าเราจะได้ลองถ่ายภาพท้องฟ้ายามค่ำคืนในทริปหน้าบ้าง แต่ช่างภาพของเราเล่าให้ฟังว่าเพียงใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้อง ความอดทนที่เพียงพอ และช่วงเวลาหลังจากวันหยุดทริปนั้นๆในการปรับแต่งรูปอีกนิดหน่อย

เริ่มจากใช้ขาตั้งกล้อง

ไม่ว่าเราจะถ่ายทางช้างเผือก แสงเหนือ ฝนดาวตก หรือปรากฏการณ์ฟากฟ้าใด ผู้เชี่ยวชาญทุกคนเห็นตรงกันว่าต้องใช้ "ขาตั้งกล้อง" (tri-pod) ที่ดีหน่อย เพราะทั้งหมดที่กล่าวมาต้องใช้การเปิดหน้ากล้องค้างไว้เป็นเวลานาน (Long Exposure) ซึ่งปล่อยให้ชัตเตอร์ของกล้องเปิดเป็นระยะเวลานานเพื่อให้แสงส่องเข้ามามากที่สุดเพื่อให้คุณสามารถจับภาพของแสงเป็นดวงๆจากดาวบนท้องฟ้าได้ ดังนั้นแล้วกล้องต้องวางอย่างนิ่งสนิท เพื่อให้สามารถเก็บภาพได้อย่างต่อเนื่องและชัดเจน กล้อง DSLRs ส่วนใหญ่นั้นมีน้ำหนักเบาซึ่งหากมีลมพัดก็อาจส่งผลต่อคุณภาพของรูปที่ถ่ายได้ แม้จะมีการปรับแต่งเซ็ตติ้งกล้องเป็นอย่างดีแล้ว หากขาตั้งกล้องไม่มั่นคงก็อาจทำให้ภาพที่ได้เบลอได้เลย

อุปกรณ์ประกอบการถ่ายภาพอีกชิ้นที่ไม่เกี่ยวกับกล้อง คือ ไฟฉาย (หรือจะเป็นไฟคาดหัวก็ได้) เพราะนี่จะช่วยให้คุณมองเห็นสภาพแวดล้อมโดยรอบ (และกล้องของเรา) ในสภาพที่แสงน้อยได้ นอกจากนี้แสงสีขาวยังส่งผลต่อการมองเห็นในที่มืดของเรา จึงไม่ควรให้มีแสงจากหน้าจอโทรศัพท์มารบกวน (หรืออย่างน้อยก็เปิด Night-mode ไว้) และระวังแสงจากจอ LCD ของตัวกล้องด้วย เพราะถ้าเรามองจอ LCD บ่อยหรือนานเกินไป ตาของเราจะปรับสภาพให้คุ้นกับสภาพแสง ทำให้เรามองดูภาพที่แสงไม่พอ (Underexposured) เพี้ยนไปเป็นภาพที่มีแสงปกติได้

และเลือกเลนส์กล้องให้เหมาะสม

หากอยากถ่ายภาพดวงดาว ลองใช้เลนส์มุมกว้าง 24 mm ถึง 16 mm จะช่วยลดการขยับของดวงดาวเนื่องจากความเร็วชัตเตอร์ที่เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่าเลนส์ คือ การปรับตั้งค่าในการถ่ายให้เหมาะสม

Smartphone ก็ถ่ายภาพดวงดาวได้เหมือนกัน

ถ้าอยากลองถ่ายภาพดวงดาวโดยยังไม่อยากเสียเงินแพงๆในการซื้อเลนส์หรือกล้องก่อน โทรศัพท์ของเราอาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกได้ เช่น Google's Pixel 4 นั้นมีกล้องที่ออกแบบมาสำหรับการภ่ายภาพดาว โดยมีโหมดในการถ่ายภาพที่ใช้เลนส์มุมกว้างที่ติดมา และใช้เวลาในการถ่ายประมาณ 4 นาที โหมดนี้สังเกตได้ง่ายจากรูปนาฬิกาจับเวลาที่ปรากฏขึ้นมา และมีข้อความให้ถือโทรศัพท์ให้นิ่งๆ (Hold still) ระหว่างนั้นกล้องจะเก็บภาพโดยเปิดหน้ากล้องค้างไว้หลายๆภาพแล้วใช้ AI มาช่วยปรับแต่งจนได้ภาพสุดท้าย (ในจังหวะนี้แหละที่ต้องใช้ขาตั้งกล้อง) อาจไม่ได้คมชัดเท่าภาพที่ได้จาก DSLRs แต่ภาพที่ได้จากคืนที่ไม่มีแสงจันทร์รบกวนที่ถ่ายโดยโทรศัพท์รุ่นนี้นั้นถือว่าสวยงาม (รุ่น Pixel 3 ก็มีโหมดนี้ แต่ใช้เวลาในการเก็บภาพเพียงแค่ 1 นาที) หรือโทรศัพท์รุ่นอื่นๆหลายๆรุ่นก็สามารถปรับแต่งตั้งค่าการรับแสงและการเปิดหน้ากล้องได้แล้ว (เช่น Huawei P10 เป็นต้น ตัวนี้ตอนผู้แปลไปทริปก็สามารถถ่ายแสงเหนือได้เหมือนกัน)

วิธีถ่ายภาพทางช้างเผือก

"ในตอนที่หัดถ่ายรูปแรกๆ เรานึกไม่ออกหรอกว่าต้องทำอะไรมากแค่ไหนเพื่อให้ได้ภาพดีดีสักภาพ" การจับภาพกาแลคซีของเราเหมาะๆก็ต้องอาศัยทั้ง การวางตัวและเส้นทางที่ทางช้างเผือกจะพาดผ่าน เวลาขึ้นลงของดวงจันทร์ รวมทั้งการหาสถานที่ที่มีแสงรบกวนน้อยด้วย

ใช้แอพฯช่วย

โชคดีที่สมัยนี้ เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเราได้ในหลายๆอย่าง แอพฯนึงที่บทความนี้แนะนำ คือ PhotoPills ซึ่งหลักๆแล้วใช้สำหรับการติดตามถ่ายรูปทางช้างเผือก เราสามารถดูวิถีโคจรของดวงจันทร์ และหาตำแหน่งของทางช้างเผือกในแต่ละเวลาได้ เพราะไม่ว่าจะถ่ายดาวหาง  ดาวเคราะห์ หรือทางช้างเผือก เราต้องหาตำแหน่งของดวงจันทร์ เพื่อให้ได้ภาพดาวที่ชัดเจนที่สุดโดยไม่มีแสงจันทร์รบกวน นอกจากนั้นก็เป็นการวางแผนของเราในการหาจังหวะถ่าย ไม่ว่าจะถ่ายทางช้างเผือกพาดโดยมีวิวทิวทัศเป็นฉากหน้า หรือจะหาช่วงที่ทางช้างเผือกพาดแนวขวางหรือแนวตั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเราและช่วงเวลาที่เราถ่าย  ซึ่งเจ้าแอพฯ PhotoPills นี้ก็มี Augmented Reality; AR ที่จะแสดงภาพทางช้างเผือกให้เราดูและวางแผนได้ในแต่ละช่วงเวลาก่อนจะออกไปถ่ายจริง

การจัดองค์ประกอบ

ถ้าเราอยากเห็นฉากและองค์ประกอบก่อนถ่าย แต่ไม่อยากรอถึงเวลาเช้ามืด เราสามารถใช้ช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตกเพื่อซ้อมมือก่อน แล้วกลับมานอน ก่อนจะออกไปอีกครั้งเมื่อถึงเวลาจริงในคืนนั้นก็ได้ ซึ่งช่างภาพส่วนใหญ่มักจะมองหาต้นไม้หรือภูเขาเป็นฉากหน้าของภาพ

การตั้งค่า

เรื่องของการตั้งค่ากล้องนั้น มีเทคนิคมากมายในการตั้งค่ากล้องเพื่อถ่ายภาพทางช้างเผือก วิธีนึงในการตั้ง Shutter Speed (เปิดหน้ากล้องนานแค่ไหน) คือ  เอาความยาวของเลนส์ (ตัวเลขที่บอกเป็น mm ของเลนส์) ไปหาร 500 เช่น หากใช้เลนส์ความยาว 24 mm ก็ต้องตั้งค่า Shutter Speed ประมาณ 21 วินาที (500/24 = 20.83 ~21 วินาที) เซ็ตค่า ISO ประมาณ 3200 - 6400 และค่ารูรับแสงประมาณ f/2.8 หรือต่ำกว่า จากนั้นก็ลองถ่ายแล้วปรับค่า fine tune ละเอียดเองตามชอบอีกที

ถ่ายภาพแสงเหนือ เพิ่มเติมคือต้องใช้ดวง (และพายุสุริยะ)

เราอาจไม่ต้องเตรียมการและวางแผนมากขนาดนั้นในการถ่ายภาพแสงเหนือ (แม้ว่ามีทั้งเว็บไซต์อย่าง เว็บนี้และแอพฯในการพยากรณ์สภาพท้องฟ้าและความเข้มของแสงเหนือให้ดูเช่นกันถ้าต้องการ -ผู้แปล)  สิ่งที่ต้องการเพิ่ม คือ ความอดทน 

แสงเหนือหรือ "ออโรรา" นั้นเกิดจากประจุจากดวงอาทิตย์ทำปฏิกิริยากับชั้นบรรยากาศโลก ดังนั้นจึงยากที่จะทำนายว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรอย่างแน่นอน ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะออกไปเฝ้ารอ คือ ช่วงที่เกิดพายุสุริยะ ซึ่งจะมี solar activity สูงที่สุด ทั้งเว็บไซต์ต่างๆและแอพฯ ทำนายการเกิด solar activity เหล่านี้ได้ เพียงแต่ยากที่จะเจาะจงว่าจะเกิดที่ไหนและเวลาใด ลองดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก เว็บนี้

ในกรณีนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องแสงจันทร์ เพราะจะช่วยให้ทั้งท้องฟ้าและออโรราสว่างขึ้น รวมถึงบริเวณพื้นที่ที่เราถ่ายภาพด้วย ส่วนการตั้งค่านั้น ไม่จำเป็นต้องตั้ง Shutter Speed ให้นานเกินกว่า 5 วินาที เพราะแสงเหนือนั้นเต้นเร็วมาก เพื่อให้ภาพที่ได้โฟกัสแสงออโรรา ต้องปรับกล้องมาเป็นโหมด manual focus แล้วมองหาสัญลักษณ์อินฟินิตี้บนเลนส์ส่วนใหญ่ หมุนไปจนสุดทางแล้วดึงกลับมาเล็กน้อย 

แสงเหนือนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้เหมือนปรากฏการณ์ท้องฟ้าอื่นๆ คำแนะนำที่ง่ายที่สุดคือ เฝ้าตระเวณหาตลอดคืนเพื่อเพิ่มโอกาสในการพบเจอ

ถ่ายภาพ Raw

อย่าหวังว่าภาพที่ได้จะพร้อมลงอินสตาแกรมหรือพร้อมทันทีที่เราถ่ายมาได้ แม้แต่ภาพจากมืออาชีพยังต้องอาศัยการเข้า Photoshop ก่อน สิ่งที่ควรทำ คือ ถ่ายภาพมาในรูปแบบ RAW file ซึ่งทำให้เราสามารถนำภาพมาปรับแต่งต่อได้ (การถ่ายภาพ Raw สามารถตั้งค่าได้ตามแต่กล้องแต่ละตัว) 

หลังจากนั้นต้องนำภาพมาเข้าคอมฯ แล้วเริ่มจากการปรับ white balance ไม่ว่าจะใช้โปรแกรมไหน ภาพสุดท้ายควรออกมาโทนฟ้ามากว่าโทนเหลือง ซึ่งเกิดจากแสงจันทร์ 

การปรับ white balance และสีนั้นสำคัญอย่างมาก เพราะจะส่งผลถึงการปรับภาพขั้นตอนต่อๆไป ในรายละเอียด คือ หากเราปรับแต่งภาพจาก Raw file เราจะสามารถกำหนดค่า white balance ระหว่าง 3200 - 4800 Kelvin บน temperature slider ได้ (3500 - 4000 สำหรับภาพถ่ายแสงเหนือ) จากนั้นก็ลด noise (จาก filter เมนู) แล้วเพิ่มความสว่างของภาพอีกหน่อย

ไม่ต้องไปไหนไกลถ้าจะถ่าย

แน่ล่ะ ถ้าจะถ่ายภาพแสงเหนือก็ต้องขึ้นไปทางเหนือ และหาจุดถ่ายเหมาะๆ อย่างน้อยก็ต้องเหนือเส้น Arctic-Circle ขึ้นไป แต่สำหรับทางช้างเผือกเราสามารถมองเห็นจากที่ไหนก็ได้ที่มีแสงรบกวนน้อยๆ (ซึ่งสำหรับคนไทย ตามอุทยานแห่งชาติหลายแห่งก็สามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกสวยๆได้)

แปลและเรียบเรียงจาก : contravener.com
เขียนโดย : MEREDITH CAREY,  Dec 9 2019

ความคิดเห็น