วิทยาศาสตร์เบื้องหลัง "ความอยากเที่ยว"

เป็นไปได้ไหมที่บางคนมีแนวโน้มทางพันธุกรรมที่จะออกเดินทางท่องเที่ยว? วิทยาศาสตร์บอกว่าอาจใช่...

Todd Bliwise อายุเพียง 9 ขวบในตอนที่พยายามจะแอบขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรก เด็กน้อยเรียกแท็กซี่ด้วยตัวคนเดียวไปยังสนามบินจากบ้านย่านพาโล อัลโต (Palo Alto) ในแคลิฟลอเนีย Todd เกือบจะทำสำเร็จจนกระทั่งพนักงานถามหา Boarding Passเมื่อถูกจับได้ เขาสารภาพและพนักงานโทรหาแม่ของ Todd ที่กำลังคลั่งอยู่และรีบบึ่งมายังสนามบินเพื่อรับตัวเขา "ผมไม่ได้คิดอะไรเลย เพียงแค่อยากจะออกไปเห็นอะไรต่ออะไร สัมผัสโลก และอะไรใหม่ๆ" Todd กล่าวในวันนั้นและ หลังจากวันนั้น 20 ปีต่อมา "ผมไปที่ตู้เสื้อผ้าของพ่อแม่ และเอากระเป๋าเดินทางสีน้ำตาลออกมา มันเป็นกระเป๋าตั้งแต่ปี 1980 ซึ่งผมใส่ของต่างๆที่ผมคิดว่ามันจำเป็นลงไปจนเต็ม ตั้งแต่ถุงเท้าคู่โปรดจนถึงแคร็กเกอร์ ผมยังจำความรู้สึกตอนแพ็คของเสร็จแล้วยกกระเป๋าออกมาได้ ผมรู้สึกสมบูรณ์มั่นใจอย่างน่าประหลาด"

เมื่อ Todd โตขึ้น ความปรารถนาที่จะออกเดินทางของเขาทวีความรุนแรงขึ้น ในวัยรุ่น Todd ไม่ต้องการสเตอริโอเครื่องใหม่หรือรองเท้า แต่เขาต้องการทริปหรือโรงแรมที่พัก และเหมือนกับวัยรุ่นอายุ 15 ทั่วไป เขาเคยแอบอ้างใช้บัตรประชาชนคนอื่น แต่ในกรณีนี้ไม่ใช่เพื่อเข้าผับหรือซื้อเหล้า แต่เพื่อยืนยันการเข้าเช็คอินโรงแรมด้วยตัวเองได้ "ผมจำได้ว่าครั้งแรกคือที่โรงแรมใกล้กับไทม์สแควร์" Todd บอก "ผมก็แอบกลัวนะ แต่ประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่เหลือของผม" และเมื่อเขาอายุได้ 18 จริงๆ Todd ท่องไปและเคยเช็คอินโรงแรมด้วยตัวคนเดียวใน 48 รัฐ (จากทั้งหมด 50 รัฐ) แล้วสุดท้าย Todd โตมาเป็น Travel Agent "ผมยังคงรักการได้เดินทางไปยังสนามบินอยู่จนทุกวันนี้"

เหมือนคนส่วนใหญ่ Todd เองจำไม่ได้แล้วว่าเริ่มชื่นชอบการท่องเที่ยวตั้งแต่เมื่อไร และสิ่งนี้กลายเป็นทั้งแรงผลักดันและส่วนหนึ่งของตัวเขา แต่คนเราชื่นชอบการท่องเที่ยวโดยกำเนิดใช่หรือไม่? สำหรับคนบ้าการเดินทางอย่าง Todd ผู้ซึ่งนับรอยประทับบนพาสปอร์ตราวกับเหรียญตราหรือของสะสมอันน่าภาคภูมิใจ เป็นความรู้สึกโดยธรรมชาติ หรือเกิดจากสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู จนกลายเป็นฮอร์โมนหรือแรงขับจากสารเคมีใดใดในสมองกันแน่ วิทยาศาสตร์จะอธิบายอย่างไรบ้าง?

มีทฤษฏีอยู่บ้าง ที่กล่าวว่าองค์ประกอบยีนเบื้องหลังนิสัยตามธรรมชาตินี้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวที่เรียกว่า PPP หรือ Permanent Passport in Pocket syndrome ในปี 2016 มีบทความเกี่ยวกับ ‘ยีนอยากท่องเที่ยว’ (wanderlust gene) หรือที่เรียกว่า DRD4-7R ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า 7R ที่เป็นความผันแปรของยีน DRD4 มีผลกระทบต่อระดับสารโดพามีน (Dopamine) ในสมอง ซึ่งส่งผลถึงแรงจูงใจและพฤติกรรมต่างๆของเราได้ โดยส่วน 7R นี้นักวิจัยคาดว่ามีความสัมพันธ์กับความอยู่ไม่สุข ความสงสัยและอยากรู้อยากเห็น ซึ่งในกรณีนี้ สามารถผลักดันผู้คนให้กล้าเผชิญกับความเสี่ยงที่มากขึ้นได้ นั่นรวมถึง... การออกสำรวจสิ่งใหม่ๆหรือสถานที่ที่แปลกออกไป

สารโดพามีนนี้รู้จักกันว่าเป็นสารเคมีในสมอง แต่ก็มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็น "สารที่ทำให้เรารู้สึกพอใจ" ในความเป็นจริงแล้ว บทบาทสำคัญของสารนี้อย่างหนึ่ง คือ การกระตุ้นให้เราแสวงหาสิ่งแปลกใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก มันตะโกนใส่สมองเราว่า "เอาใหม่ เอาอีก!" Dawn Maslar นักชีววิทยาจาก Kaplan University ได้ศึกษาผลของโดพามีนที่มีต่อสมองเรา เธอจึงเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญระหว่างยีนตัวนี้กับความพึงพอใจที่ได้เติมเล่มพาสปอร์ตจนเต็มด้วยรอยประทับของประเทศต่างๆ 

"wanderlust gene นี้ช่างทรงพลัง และยิ่งแสดงลักษณะเด่นออกมาในหมู่คนที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยว" Maslar กล่าว "โดพามีนนี้ทำงานเสมือนยาเสพติด เมื่อเราได้รับ ปริมาณเดิมก็จะยิ่งไม่เพียงพออีกต่อไป เราจะยิ่งต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ" และยิ่งน่าทึ่งไปอีก เมื่อผลการวิจัยพบว่า ยีนนี้มีการกระจายอย่างไม่สม่ำเสมอ คาดเดาไม่ได้ และกว่า 20% ของประชากรโลกก็มียีนนี้อยู่ แม้ว่าสัดส่วนการกระจายจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค "และแตกต่างนี้" เธอกล่าว "อาจเป็นเศษซากที่หลงเหลืออยู่จากตลอดประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการของมนุษย์" 

"เราพบว่ามีสัดส่วนของยีน DRD4-7R ในประชากรชาวอเมริกัน ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ หรืออย่างน้อย ก็ในหมู่ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวยุโรปซึ่งอพยพมาตั้งรกรากที่นี่ ซึ่งก็สมเหตุสมผลอยู่" Maslar กล่าว (คำว่า wanderlust นี้เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาเยอรมัน ซึ่งหมายความว่า 'หลงไหลในการท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ' และเพิ่งปรากฏในภาษาอังกฤษเมื่อต้นศตวรรษนี้เอง ในขณะที่ภาษาเยอรมันในทุกวันนี้กลับมีคำที่ยืมกลับไปจากภาษาอังกฤษว่า globetrotter แทนซึ่งมีความหมายเดียวกัน)


ยังมีผลการศึกษาอื่นๆที่บอกว่า ความโน้มเอียงอันเฉพาะเจาะจงนี้ ส่งผลให้ผู้ที่มียีนดังกล่าวกล้าเผชิญกับความเสี่ยงและพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆได้มากกว่า หากคุณเคยรู้สึกว่าต้องการความตื่นเต้น ในทำนองว่าการเดิมพันแบบเทหมดหน้าตักครั้งแรก ความรู้สึกเดียวกันนี้นั่นเองที่เป็นสัญญาณมาจากการกระตุ้นระดับยีน

ดร. Cynthia Thomson นักวิจัยจากโรงพยาบาล Richmond ในแวนคูเวอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยเกี่ยวกับความต้องการความตื่นเต้นของมนุษย์ ใช้ความระมัดระวังในการสืบเสาะหาข้อสรุปนี้ และพบว่าการจัดการกับความเสี่ยงอย่างชาญฉลาดถูกให้ความสำคัญและฝังอยู่ในลำดับยีนของเรามาตั้งแต่ยุคสมัยก่อน เมื่อเรามีความกล้าพอที่จะสำรวจพื้นที่ใหม่ๆและแหล่งอาหารใหม่ๆ เราจะมีชีวิตรอดและสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้ แต่ก็ใช่ว่าทั้งหมดจะเป็นผลจากการกระตุ้นของ DNA เพียงอย่างเดียว "บุคคลิกภาพของเรามีผลมาจากยีนโดยส่วนใหญ่ และมียีนจำนวนมากคอยควบคุมอยู่ อย่างไรก็ตามเป็นการยากที่จะบอกว่านี่เป็นผลมาจากสารเคมีในสมองหรือสภาพแวดล้อมกันแน่"

ดังนั้นแล้ว พฤติกรรมของเราจากยีนภายใน หรือการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมกันที่เป้นคำอธิบายสำหรับพฤติกรรม 'wanderlust' นี้ ในแง่หนึ่งทางสังคมศาสตร์คาดว่าน่าจะเป็นผลจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมมากกว่าพฤติกรรมโดยกำเนิด (ที่กำหนดจากยีน) Adam Galinksy จาก Columbia Business School กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า 'จิตวิทยาการท่องเที่ยว' โดยยกตัวอย่างจากตัวเขาเองนั้น ได้กลายเป็นผู้เสพติดการท่องเที่ยวหลังจากได้พบและแต่งงานกับภรรยา "ผมชอบเดินทางไปเที่ยวนะ แต่ก็ไม่ได้ชอบถึงขนาดไปด้วยตัวคนเดียว ผมต้องการการสนับสนุนและคำยุยงอีกเล็กน้อย ซึ่งนั่นก็มักมาจากภรรยาผมนั่นเอง"

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง Gloria McCoy ซึ่งคล้ายคลึงกับตัวอย่างจาก Adam Galinksy โดยตัว McCoy เองนั้นต้องเดินทางไปทั่วด้วยเหตุผลเรื่องงาน ซึ่งแม้กระนั้น ก็ไม่ได้ปลุกความเป็น wanderlust ของเธอนัก "ฉันคิดว่ามันมาจากความสัมพันธ์ที่เป็นจุดเริ่มต้น" เธอกล่าว "ฉันเริ่มหลงไหลการเดินทางจากสามีเมื่อได้พบกับเขาตอนอายุ 29 เขานี่เองที่เป็นนักเดินทางตัวยง"

ทั้ง 2 กรณีที่กล่าวมา wanderlust อาจเป็นแค่การแสดงออกใหม่ๆของลักษณะนิสัยซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อนเมื่ออยู่ในสถานการณ์แวดล้อมที่เหมาะสม แต่หากคนที่คุณรักและไว้วางใจมีความสนใจในเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตเขาแล้ว มันจะง่ายขึ้นมากที่จะถูกชักจูงและโน้มน้าวพฤติกรรมของคุณให้เป็นไปตามนั้นด้วยเหมือนกัน หนึ่งในห้าลักษณะบุคลิกภาพที่สำคัญของผู้คนจำนวนมากทั่วโลก คือ การเปิดกว้างในการได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งนั่นช่วยเพิ่มโอกาสของผู้คนในการเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าเขาหรือเธอคาดว่าจะได้ประสบการณ์แบบไหนกลับมาก็ตาม

ไม่ว่าต้นตอสาเหตุจะมาจากสิ่งใด มรดกตกทอดผ่านการอพยพและวิวัฒนาการอันยาวนานที่ฝังอยู่ใน DNA ของเราหรือความโน้มเอียงทางจิตวิทยาที่ถูกกระตุ้นภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถโต้แย้งได้ คือ การรักษาอาการ  'wanderlust' นี้ที่ดีที่สุดคือ ยอมแพ้ แล้วออกเดินทางอีกครั้ง... 

-----------------------------------------------------------------------------------

ความคิดเห็น